“ทำยังไงถึงจะเป็นคนขยันคะ?
คือหนูรู้ตัวว่าเป็นคนขี้เกียจอ่ะคะ (คนอื่นก็บอกว่าหนูเป็นคนขี้เกียจ) ทีนี้หนูอยากทำอะไร productive แบบคนอื่นเขาบ้าง เลยอยากรู้ว่า ทำยังไงเราถึงจะกลายเป็นคนขยันคะ? ขอบคุณค่ะเจ้”
สรุปคือเธอคิดว่า เธอเป็นคนขี้เกียจ
เป้าหมายคือ อยากทำให้ได้ productive
เลยคิดว่า ต้องแปลงร่างเป็น คนขยันก่อน
OK เริ่มแรกก่อนเลยนะเธอ
เธอรู้จักตัวสลอทไหม? ตัวขี้เกียจอ่ะ
คำถามต่อมา เธอเคยเห็นมันแปลงร่างเป็นกระรอกก่อนหาอาหาร หรือเห็นมันแปลงร่างเป็นลิงแสมก่อนจะเดินทางไต่ไปตามต้นไม้ป่ะ?
แน่นอน ใครจะไปเคยเห็นเล่า ถูกไหม สลอทมันก็หาอาหารแบบสลอท ปีนป่ายต้นไม้แบบสลอท และมีชีวิต มีลูก สร้างครอบครัว แบบ productive ในแบบสลอท
คำถามสำคัญคือ ....
ถ้าสลอทไม่ต้องแปลร่างเป็นกระรอก กระต่าย
แล้วทำไมเราต้องแปลงกายเป็นคนขยันก่อน
ถึงจะทำอะไรให้มัน productive ได้ล่ะ?
……….
การทำงาน การก้าวหน้า การไปข้างหน้า การใช้ชีวิต
เอาเป็นว่าเจ้อธิบายเรื่องพวกนี้รวมๆกันไปแล้วกันนะ
สี่อย่างข้างต้น มันก็คือการไปข้างหน้า หรือไปให้มันสูงขึ้นนั่นแหละ ทีนี้ลองนึกรูปธรรมง่ายๆใกล้ตัว เอาเป็นว่า นึกถึงรถคันหนึ่งแล้วกัน
การที่รถจะไปข้างหน้า หรือขึ้นเนินได้ มันเกิดได้จาก 3 กรณี หรือ 3 แรงมากระทำ
1 รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเองด้วยแรงเครื่องยนต์
2 รถถูกเข็นจากด้านหลัง
3 รถถูกกลากจูงจากด้านหน้า
ดังนั้นเช่นเดียวกัน วัตถุอื่นๆทั่วไป หรือตัวเราเองเนี่ยแหละ จะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ (บนทางราบ หรือบนทางชันนะ ไม่เอาบนทางลาดลง) ก็อาศัยแรงได้ 3 อย่าง
แรงจากภายในของมันเอง
แรงผลักดัน แรงถีบนั่นแหละ
และแรงลากจูง หรือ แรงชักจูง
เจ้อยากให้พวกเธอทั้งหลายลองลืมคำว่า คนขยัน คนขี้เกียจ ออกไปก่อน
เจ้คิดว่าการประเมินคนอื่น หรือตัวเองด้วยคำว่า “ขยัน” “ขี้เกียจ” มันขาวดำเกินไปนะ คำสองคำนี้ไม่ได้ก่อนประโยชน์อะไรนอกจาก ความรู้สึกดีต่อคนที่ถูกชม กับ รู้สึกแย่กับคนที่ถูกตำหนิ
แต่การพัฒนาหลังจาก “ขยัน” “ขี้เกียจ” คือ? มีกี่ทาง?
คนขยันก็รักษาความขยันไว้ และเพิ่มมันขึ้นไป ส่วนคนขี้เกียจก็ให้ปรับตัวมาเป็นคนขยัน ใช่ไหม? มีทางอื่นป่ะ? ฟังแล้วรู้สึกว่านามธรรมโคตรๆเลยอ่ะ รู้สึกว่าหนทางในการพัฒนาตัวเองมันไม่มีทางเลือก มันดูแคบเกินไปไหมอ่ะ?
ลองเปลี่ยนการประเมินเป็นประเมินตามแรงที่เราใช้ในการทำงานให้เสร็จดูดิ ลองแยกเป็น
1 คนที่ทำงานเสร็จได้ด้วยตัวเอง
2 คนที่ทำงานเสร็จได้ต่อเมื่อมีแรงผลักดัน
3 คนที่ทำงานเสร็จได้เมื่อมีแรงจูงใจ
เจ้ว่า อันนี้จะเกิดประโยชน์กว่าไหมอ่ะ?
ลองนึกดูนะ สมมุตินะสมมุติ
เธอรู้ว่าตัวเธอเองจะทำงานได้สำเร็จถ้ามีแรงผลักดัน คือในบรรดา 3 แรงน่ะ เธอถนัดใช้แรงผลักสุด ทำงาน productive ได้ระดับหนึ่ง แต่ทีนี้มันไม่พอ เธออยากเพิ่มไง
เธอก็ลองเพิ่มแรงชักจูงเข้าไปอีกแรงสิ ว่า เออถ้าเสร็จโปรเจคนี้ให้รางวัลตัวเองสักนิดดีไหม? พักร้อนกลับบ้านสัก 2 วัน อาจจะเสร็จงานไวขึ้น productive ขึ้นมากกว่าเดิมนะ ยังไง สองแรงมันก็ดีกว่าแรงเดียวถูกป่ะล่ะ?
คนที่ขยันน่ะ ก็คือคนที่ใช้แรงจากภายในเป็นหลักไง ไม่ต้องอาศัยแรงภายนอก ก็ productive เหมือนพวกกระรอก กระต่าย ก็มีแรงภายในตัวเหลือเฟือ เลยไฮเปอร์เมื่อเทียบกับตัวสลอทถูกไหม
ถ้าเราเป็นสลอท จะให้เราแปลงร่างเป็นกระต่ายกระรอกก่อนทำงาน มันก็คงจะไม่ได้นะ แถมดีไม่ดีเสียเวลาไปอีก ลองนึกเป็นแแผนภูมิง่ายๆสิ ถ้าเรามีเป้าหมาย แล้วต้องการทำให้มันเสร็จ มันก็จะเป็นแบบนี้
มีเป้าหมาย ==> ทำ ==> ทำเสร็จ
แต่ถ้าเราคิดว่า เออ ก่อนจะทำ เราควรต้องเป็นคนขยันก่อนนะ ถึงจะทำเสร็จ แผนภูมิจะออกมาเป็นแบบนี้
มีเป้าหมาย ==> แปลร่างเป็นคนขยัน ==> ทำ ==> ทำเสร็จ
อ้าว... แล้วเราจะเพิ่มอีก 1 ขั้นตอนทำไมอ่ะ?
รุ่นน้องที่รักของเจ้เคยโพสท์ขึ้นเฟซบุ๊คว่า วิธีการทำงานให้สำเร็จของคนขี้เกียจ คือเริ่มทำมันไปเลยทั้งๆที่ยังขี้เกียจอยู่นั่นแหละ เจ้ชอบนะ เจ้ว่าจริงแหละ
แต่อยากให้เราประเมินตัวเราเองก่อนว่าเราเป็นคนแบบไหน ใช้กี่แรงในการทำงาน ถนัดแรงแบบไหน แล้วหาแรงอื่นมาเพิ่มเท่าที่ทำได้ เราก็จะทำงานสำเร็จ productive ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นคนขยันแล้วเนอะ
ลองไม่มองด้วยฟิลเตอร์ “ขยัน” “ขี้เกียจ” ดู
แล้วเราจะรู้ว่า เราจะพัฒนาตัวเองยังไง